องค์การบริหารส่วนตำบล “ม่วงหวาน”

MUANGWAN SUBDISTRICT ADMINISTRATIVE ORGANIZATION     |     อ.หนองแซง จ.สระบุรี

www.muangwan.go.th

จ่าสิบเอก สมบัติ หินอ่อน
นายก อบต.ม่วงหวาน

จ.อ.กิตติพัฒน์ งามสมชนม์
รองนายก อบต.ม่วงหวาน

นาย นาลี คัมภีรพงษ์
รองนายก อบต.ม่วงหวาน

นางสาวเพียงฤทัย หินอ่อน
เลขานุการนายก อบต.ม่วงหวาน

นาย ประกอบ จตุรัตนา
ปลัด อบต.ม่วงหวาน

ประวัติความเป็นมา



      องค์การบริหารส่วนตำบลม่วงหวานประกอบไปด้วยเขตการปกครองส่วนท้องที่  2  ตำบล  คือ  ตำบลม่วงหวานและตำบลเขาดิน  มีพื้นที่ติดต่อกันภายในเขตอำเภอหนองแซงพื้นที่หมู่บ้านและตำบลทั้งสองอยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลม่วงหวานทั้งหมด  ยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลม่วงหวานและองค์การบริหารส่วนตำบลเขาดิน  เมื่อวันที่ 23  กุมภาพันธ์  2540  และยุบองค์การบริหารส่วนตำบลเขาดินกับองค์การบริหารส่วนตำบลม่วงหวาน  เนื่องจากประชากรไม่ถึงสองพันคนเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลม่วงหวานในวันที่  9  กรกฎาคม  2547 

      ประวัติความเป็นมาของตำบลม่วงหวานตามคำบอกเล่าของคนเก่าแก่  มีดังนี้ วันหนึ่งได้มีกระทาชาย  2  คน  ได้จูงควายจากทุ่งกุลาร้องไห้  เพื่อที่จะเอาควายไปประกวดที่ตำบลหนองควายโชว์ (ปัจจุบันนั้นเป็นหนองควายโซ)  ด้วยความเหนื่อย  ก็ได้ชวนกันพักผ่อนใต้ต้นมะม่วง  ด้วยความอ่อนเพลีย  และหิวกระหาย  กระทาชาย  2  คน  นอนหลับ  ขณะนั้นได้มีนกกระจิบ  บินมาจิกมะม่วงซึ่งกำลังสุกงอม  และหล่นลงมา    ข้าง ๆ  ที่ชาย  2  คน  นอนหลับ  และกระทาชายคนหนึ่งตกใจตื่น  และมองเห็นลูกมะม่วงที่สุกหล่นลงมา  ด้วยความหิวจึงได้หยิบมะม่วงลูกนั้นขึ้นมาดมดูก่อน  ก็รู้สึกมะม่วงนั้นหอม  จึงได้ลองชิมดู  รู้สึกว่ารสชาติหวาน  อร่อย  ด้วยความรีบกิน  ทำให้ลูกมะม่วงลูกนั้นติดคอ  จะร้องให้คนช่วยก็ร้องไม่ออก  เพราะแกนมะม่วงติดคออยู่  จึงใช้มือสะกิดเพื่อนที่กำลังนอนหลับอยู่  และเพื่อนก็ได้ตื่นขึ้นมาช่วยเหลือ  เอาแกนมะม่วงออกจากคอได้สำเร็จ  เมื่อกระทาชาย  2  คน  นี้ได้กลับบ้านไปแล้ว  ก็พากันบอกถึงแหล่งมะม่วงหวาน  และได้เรียกว่า”บ้านมะม่วงหวาน”  ต่อมาก็เรียกว่า  “บ้านม่วงหวาน”  จนถึงปัจจุบัน  ประชากรดั้งเดิมได้อพยพมาจากประเทศลาว  สมัยกรุงธนบุรี  ได้สืบเชื้อสายจนถึงปัจจุบัน  ซึ่งจะเห็นได้จากการพูดที่เป็นภาษาลาว  แต่ไม่มีตัวอักษรใช้

ตำบลม่วงหวาน  มี  8  หมู่บ้าน
บ้านห้วย   สมัยก่อนมีลำห้วยยาวจากบ้านโคกสว่าง  ตำบลหนองหัวโพ  ผ่านหมู่บ้าน  จึงเรียกว่าบ้านห้วย  ภาษาพูดส่วนมากเป็นภาษาลาว
บ้านหนองสองห้อง  สมัยก่อนมีคนแก่ชอบปลูกบ้านทำเป็นหลัง  ๆ ละสองห้อง  จึงเรียนกันมาว่า  บ้านหนองสองห้อง  มีภาษาพูดเป็นภาษาลาว
บ้านหนองต้อน  เป็นหมู่บ้านที่มีหนองไหลผ่าน  ชาวบ้านส่วนมากจะทำการกั้นทางน้ำเพื่อดักปลา  เพื่อให้ปลาเข้าที่ดักปลาของตนเอง  จึงเรียกว่าบ้านหนองต้อน  มีภาษาพูดเป็นภาษาลาว
บ้านหนองโดน  สมัยก่อนมีหนองอยู่หนองหนึ่ง  และมีต้นกระโดนขึ้นอยู่ข้างหนองชาวบ้านเรียกว่าบ้านหนองกระโดน  ต่อมาเลยเรียกว่าบ้านหนองโดน  มีภาษาพูดเป็นภาษาลาว
บ้านบกใต้  แต่ก่อนมีหมู่บ้านกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งอยู่ทางเหนือ  อีกลุ่มหนึ่งอยู่ทางใต้ต้นกระบก  บ้านบกใต้อยู่ทางใต้จึงเรียกว่าบ้านบกใต้  มีภาษาพูดเป็นภาษยวน
บ้านบกใหญ่  ส่วนบ้านบกใหญ่เป็น  หมู่บ้านที่กลุ่มใหญ่อยู่ทางเหนือต้นกระบก  จึงเรียกว่าบ้านบกใหญ่  มีภาษาพูดเป็นภาษยวน
บ้านม่วงหวานเหนือ  เดิมชาวบ้านได้ตั้งวัดขึ้นมาและนำมะม่วงป่ามาปลูก  1  ต้น ถึงเวลาออกลูก  มะม่วงเวลาสุกมีรสหอมหวานมาก  มีชาวบ้านอยู่  3  กลุ่มรอบวัด  ทางทิศเหนือ  จึงเรียกว่าบ้าน  มะม่วงหวานเหนือ  ต่อมาเลยเรียกว่า  บ้านม่วงหวานเหนือ  มีภาษาพูดเป็นภาษายวน
บ้านม่วงหวานใต้  เป็นกลุ่มบ้านอยู่ทางใต้ของวัดม่วงหวาน  จึงเรียกว่าบ้านมะม่วงหวานใต้  ต่อมาเรียกว่าบ้านม่วงหวานใต้  มีภาษาพูดเป็นภาษลาว
         ประวัติความเป็นมา  ตำบลเขาดินมีลักษณะเด่นของคนในตำบล  คือ  มีภาษาพูดเป็นแบบไทย-ยวน  (ภาษายวนเป็นภาษาพูดคล้ายชาวภาคเหนือ)  และภาษาไทย-ลาว  (ภาษาลาวพูดคล้ายชาวประเทศลาว)  ซึ่งคล้ายกับตำบลอื่นในอำเภอหนองแซง  ตำบลเขาดินมี  7  หมู่บ้าน
บ้านเขาดิน  เนื่องจากบริเวณหมู่บ้านเป็นเนินดินใกล้กับวัดเขาไกรลาศ  ซึ่งเป็นเขาลูกเดียวในตำบล  จึงเรียกบ้านเขาดิน  คนส่วนมากพูดไทย-ลาว  
บ้านหนองจอก  สมัยก่อนมีหนองน้ำในหมู่บ้านและมีจอกแหนอยู่ในหนองน้ำมากจึงเรียกบ้านหนองจอก  มีภาษาพูดแบบไทย-ยวนอีกทั้งรูปร่างหน้าตาผิวพรรณคนในหมู่บ้านคล้ายชาวภาคเหนือ  คนเก่าแก่บอกว่าอพยพมาจากทางเหนือ
บ้านหนองผำ   สมัยปู่ย่าตาทวดเล่ากันว่ามีนาอยู่ 1  ไร่  ลึกมากเป็นคล้ายหนองน้ำทำนาไม่ได้   ในหนองน้ำมีไข่ผำ  หรือเรียกว่าไข่น้ำมีลักษณะเป็นเม็ดเล็ก  ๆ  สีเขียว ๆ  นำมาทำอาหารรับประทานได้  ภาษายวนเรียกว่าหนองไข่ผำ  และกลายมาเป็นหนองผำ  ภาษาพูดของคนในหมู่บ้านเป็นไทย-ยวน
บ้านตากแดด  เมื่อสมัยก่อนมีต้นโพธิ์ใหญ่ตรงนาแทว  (นาที่เป็นที่ลุ่มในภาษายวน)  เรียกว่าบ้านโพธิ์ตาก  ต่อมากลายมาเป็นบ้านตากแดด  ภาษาพูดไทย-ยวน
บ้านกลาง  เพราะหมู่บ้านนี้ตั้งอยู่กลางตำบล  จึงเรียกบ้านกลาง  ภาษาพูดไทย-ลาว
บ้านหนองขันแตก  มีเรื่องเล่าสมัยก่อนว่า  มีคนเดินทางผ่านมาขอน้ำกินแล้วทำขันหลุดมือตกแตก  ประกอบกับเป็นที่ลุ่มจึงเรียกว่าบ้านหนองขันแตก  ภาษาพูดของหมู่บ้านคือ  ไทย-ลาว
บ้านหนองต้อนเหนือ  เชื่อกันว่าสมัยก่อนมีการอพยพมาจากเวียงจันทร์แล้วมารวมตัวกันบริเวณนี้  ลักษณะเหมือนการรวมกลุ่มกันของคนลาวซึ่งเรียกกันว่าบ้านหนองต้อน  ภาษาพูดไทย-ลาว


ตราสัญลักษณ์

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น

close-window